
จัดการให้ดี เรื่องเสี่ยงๆ ทางการเงิน
Share
ความไม่แน่นอน คือความแน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ทรัพย์สิน หรือแม้แต่การงาน ทุกอย่างมีความเสี่ยงที่เราควบคุมไม่ได้ เยอะมากครับ อย่างล่าสุด ใครจะเชื่อว่านอนบนบ้านดีๆ อยู่ๆ ก็มีคนมาเขย่าเล่นซะงั้น
ถึงเราจะห้ามให้มันเกิดไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการเตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยงนั้นครับ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ก็สบายใจ หายห่วง และหนึ่งในเครื่องมือที่ผมอยากแนะนำให้เพื่อนๆ รู้จัก ก็คือ "A-CAT Model" จำง่ายๆ คือ "แมว" ที่ตกจากที่สูงก็พลิกกลับมายืนใหม่ได้นั่นเอง
1. ความเสี่ยงมีอะไรบ้าง?
แต่ก่อนจะพูดถึงวิธีการ เรามารู้จักความเสี่ยง ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นก่อนดีกว่าครับ สามารถแบ่งได้หลายแบบ แต่ผมขอแบ่งความเสี่ยงออกเป็น 2 หมวดหลักๆ ได้แก่: เสี่ยงอยู่ และเสี่ยงตาย

เสี่ยงอยู่
คือทุกความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตอนเรามีชีวิตอยู่ครับ
- ชีวิต : ทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดตอนมีชีวิต ก็คือร่างกายครับ ซึ่งมันจะเสื่อมลงเรื่อยๆ จากพฤติกรรม หรือเหตุการณ์บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ พิการ โรคร้ายแรง อุบัติเหตุ รวมถึงอายุยืนเกินไปก็เป็นความเสี่ยงเหมือนกันครับ
- ทรัพย์สิน : คือความเสียหายหรือสูญเสียทรัพย์สิน สิ่งของต่างๆ เช่น บ้าน รถยนต์
- อาชีพ : เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหน้าที่การงานจนขาดรายได้ อย่างการตกงาน หรือการรับผิดชอบในงาน
- อื่นๆ : ความเสี่ยงที่ไม่ได้ของตัวเอง เช่น ค้ำประกัน การดูแลครอบครัว
เสี่ยงตาย
เป็นความจริง และเป็นความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับทุกคน สำหรับคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว มีคนต้องดูแลรึเปล่า มีใครเดือดร้อน หรือต้องรับภาระที่เราทิ้งไว้ให้รึเปล่า หรือคนที่ไม่มีภาระ แต่อยากมอบของขวัญให้ครอบครัว ไม่อยากแค่ดูแลคนรักเท่าชีวิตเรา แต่อยากดูแลเท่าชีวิตเขา ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะมีเรื่องให้คิดตามนี้ครับ
ถ้าวันนั้นมาถึง เราเตรียมพินัยกรรมชีวิต เตรียมตายไว้ดีแล้ว ก็เบาใจในชีวิตได้มากครับ ส่วนใครอยากเบาใจมากกว่านี้ ผมแนะนำให้ลองทำสมุดเบาใจ จากกลุ่ม Peaceful Death ได้เลยครับ > https://baojai.co/
2. เริ่มจัดการความเสี่ยง (A-CAT)
หลังจากระบุความเสี่ยงแล้ว ให้ประเมินระดับตาม "ความรุนแรง" และ "โอกาสเกิด" แล้วจัดการความเสี่ยงแต่ละแบบให้เหมาะสม
A-CAT Model เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เรามองภาพรวมและจัดการความเสี่ยงทางการเงินได้อย่างเป็นระบบ โดยแบ่งความเสี่ยงออกเป็น 4 ประเภทหลัก
-ป้องกัน-
A : Avoid (หลีกเลี่ยง):
ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยแต่ผลกระทบรุนแรง เราควรหลักเลี่ยงจากเหตุการนั้นไปเลย เช่นความเสี่ยงที่บ้านตั้งอยู่ใกล้โรงงานแก๊ซ เคมี บริเวณที่มีน้ำท่วมบ่อย หรือการไม่ลงทุนกับสิ่งที่ไม่เข้าใจ
C : Control (ควบคุม)
ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยแต่ผลกระทบไม่รุนแรง เราควรควบคุมและลดความเสี่ยงนั้นๆ เช่น ออกกำลังกาย ลดการกินอาหาร Fast food นอนให้เพียงพอ เพื่อลดปัญหาจากสุขภาพ
-รับมือ-
A : Accept (ยอมรับ)
ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยและผลกระทบไม่รุนแรง เราควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนั้นๆ เช่น ถ้าคิดว่าตกงาน หรือย้ายงาน ก็เก็บเงินสำรองไว้ก่อน 6 เดือน
T : Transfer (โอนย้าย)
ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่ผลกระทบรุนแรง เราควรโอนความเสี่ยงนั้นๆ ไปยังผู้อื่น เช่น ลูกยังเรียนไม่จบ ถ้าเราจากไปจึงทำประกันเตรียมไว้
ข้อดีของวิธีนี้
ช่วยให้เห็นภาพรวมของความเสี่ยงทางการเงินทั้งหมด วางแผนจัดการเป็นระบบ และช่วยให้ตัดสินใจทางการเงินได้ดีขึ้นด้วยครับ
3. วิธีที่ผมเอามาจริง
1. เตรียมตัว : หาสมุด ปากกา หรือโปรแกรมที่ช่วยทดความเสี่ยงของตัวเองออกมาให้เห็นภาพทั้งหมด
2.ระบุความเสี่ยง : ระบุความเสี่ยงออกมาว่ามีอะไรบ้าง
3. ประเมินความเสี่ยง : ประเมินระดับความเสี่ยงจาก "ความรุนแรง" และ "โอกาสเกิดมาก" หลังจากนั้นก็ระบุตัวเลขออกมาให้ชัดว่าแต่ละความเสี่ยงต้องใช้เงินเท่าไหร่
4. จัดการความเสี่ยง : เลือกจัดการความเสี่ยงแต่ละประเภท ตามกำลังที่พอทำได้ ( A-CAT)
สำหรับการโอนความเสี่ยง ให้ดูเพิ่มว่าสิทธิที่ตัวเองมีจากรัฐ หรือบริษัทเพียงพอมั้ย ถ้าจำเป็นต้องทำประกันเพิ่ม ก็ให้เลือกความคุ้มครอง ที่ครอบคลุม พอดีกับความเสี่ยง ถ้าน้อยเกินไม่ครอบคลุม ก็ต้องจ่ายส่วนต่างที่เกินงบขึ้นมาเอง ถ้ามากเกินไป อาจต้องจ่ายเบี้ย/ปี มากเกินไป
5. สรุปผล : ติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ดูภาพรวมความเสี่ยงของคุณจากกราฟสรุป อย่างชีทที่ผมทำไว้ให้เห็นความเสี่ยงทุกด้าน รวมถึงการเตรียมอยู่ และเตรียมตายของตัวเองได้ด้วยครับ
6. ตั้งสติ ไม่ประมาท : ใช้ชีวิตให้อยู่ดี และเตรียมตัวตายให้ดี
การจับความเสี่ยงลงมาอยู่ในชีท หรือเครื่องมืออะไรซักอย่างแบบนี้ ก็ให้เราเห็นมันชัดขึ้น และดีกว่าปล่อยเรื่องกังวลพวกนี้มันวนเวียนอยู่ในหัวจริงมั้ยครับ
คำแนะนำเพิ่มเติม
- เนื้อหานี้เป็นเพียงวิธีการ และเป็นแค่มุมมองหนึ่งครับ คุณสามารถจัดการความเสี่ยงได้วิธีที่คิดว่าเหมาะกับตัวเองได้เลย
- ถ้าคิดอะไรไม่ออก ก็เริ่มง่ายๆ ที่เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน ให้ได้ 3 - 6 เดือน ก่อนได้เหมือนกัน
- ทบทวนและปรับปรุงแผนจัดการความเสี่ยงเป็นประจำ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะช่วยได้มากครับ อย่างนักวางแผนทางการเงิน หรือประกันภัยต่างๆ ให้เข้าใจในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันต่างๆ จะได้รับมือได้เหมาะกับตัวเองมากขึ้น
- ศึกษาความรู้ทางการเงิน ให้เข้าใจมากขึ้น ความเสี่ยงจะลดลง ตามความรู้ที่มากขึ้นครับ
ศึกษาเพิ่มเติม
> https://www.youtube.com/watch?v=h7kfk6LKvdE
ฟังเรื่อง "ความเสี่ยงทางการเงิน" ฟังง่ายเพลินๆ 30 น. จากโค้ชหนุ่ม (The Money Case by The Money Coash)
> https://www.youtube.com/watch?v=tGUSZCu4bj8
สำหรับเรื่องการซื้อประกัน 20น. จากคุณหมง (Wealth Design Consulting) สั้นๆ แต่เห็นภาพดีมากครับ
> https://www.youtube.com/watch?v=LNtLrrtZBKY& list=PLzNZumObc8XuNO0ZVj_btE2K91gvGw5Hs&index=2
ศึกษา "หลักและแนวคิด" การบริหารความเสี่ยงทางการเงินส่วนบุคคลแบบเป็นซี่รีย์ยาวๆ 13 ตอน จากคุณเอ (A-academy) อันนี้หาวันว่างๆ สัก 1 วัน นั่งฟังให้จบ คุ้มค่าแน่นอนครับ (ตอนนี้ข้อมูลบางอย่างอาจอัพเดทใหม่ เพราะเป็นคลิปเมื่อ 10 ปี แต่หลักและแนวคิดจะไม่เปลี่ยนมากครับ)
ยิ่งเข้าใจมาก ยิ่งเสี่ยงน้อย
หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ในการจัดการความเสี่ยงทางการเงินของคุณนะครับ ^^